การตรวจวินิจฉัยฝ้า
การวินิจฉัยฝ้านั้น ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ ของผู้ป่วยมีส่วนสำคัญมากในการช่วยวินิจฉัย เช่น อายุ เพศ อาชีพ การใช้ชีวิตประจำวัน ประวัติการสัมผัสแสงแดด ประวัติการใช้ยาและเครื่องสำอาง และประวัติการเป็นฝ้าในครอบครัว ส่วนการตรวจร่างกายนั้นใช้การดูจากลักษณะภายนอกดังที่กล่าวถึงลักษณะของฝ้าข้างต้น หรืออาจใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Wood's lamp โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสามารถแยกได้ว่าเป็นฝ้าชนิดตื้น หรือชนิดฝ้าลึก การแยกชนิดของฝ้านั้นสำคัญในแง่ของการรักษาต่อไป กรณีที่แพทย์ หรือผู้ป่วยสงสัยว่า อาจเป็นโรคผิวหนังชนิดอื่นที่ไม่ใช้ฝ้า แพทย์อาจต้องทำการตัดเนื้อชิ้นเล็กๆ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
ฝ้าแบ่งเป็น 4 ชนิด คือ
1. ฝ้าตื้น (Epidermal type) เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสี สร้างเม็ดสีและลำเลียงเม็ดสีขึ้นสู่ผิวหนังชั้นบนสุด (ชั้นหนังกำพร้า) จึงทำให้ฝ้าชนิดนี้มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลเข้ม หรือดำ และ มักมีขอบเขตชัดเจน
2. ฝ้าลึก (Dermal type) เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสี สร้างเม็ดสีออกมาอยู่ใต้ต่อชั้นหนังกำพร้าคืออยู่ในชั้นหนังแท้ (ผิวหนังชั้นอยู่ใต้หนังกำพร้า) จึงทำให้ฝ้าชนิดนี้มักจะมีสีอ่อนกว่าชนิดฝ้าตื้น โดยอาจมีสีน้ำตาลอ่อน สีเทา สีน้ำตาลเทา หรือ สีม่วงอมน้ำเงิน นอกจากนี้ยังมีขอบเขตไม่ชัดเจน โดยมักมีสีกลืนไปกับผิวหนังปกติรอบข้าง
3. ฝ้าผสม (Mixed type) คือมีการผสมกันทั้งฝ้าชนิดตื้น และชนิดลึก เป็นชนิดที่พบมากที่สุด ในคนไข้ทั่วไป
4. ฝ้าที่ไม่สามารถแยกได้ชัดเจนว่าเป็นฝ้าชนิดใด (Indeterminate type) มักพบในผู้ที่สีผิวเข้มมาก หรือ คล้ำมาก เช่น ในชนชาติแอฟริกัน เป็นต้น