ทำไมต้องซื้อประกันรถยนต์เพิ่ม ในเมื่อมี พ.ร.บ.คุ้มครองแล้ว
ใครที่มีรถยนต์ขับไม่ว่าจะเป็นรถที่ทำสัญญา”การเช่าซื้อ” หรือเป็นผู้ครอบครองโดยตรง ในแต่ละปี รถยนต์ทุกคันจะต้องทำประกันภัยที่มีความจำเป็น 2 ฉบับด้วยกัน คือ การทำประกันภัยรถแบบภาคบังคับ เรียกง่าย ๆ ว่า “ประกันภัย พ.ร.บ.” หรือ “พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ” และอีกฉบับ คือการทำประกันภัยภาคสมัครใจ
สัญญาแบบภาคบังคับ ชื่อก็บอกชัดเจน รถยนต์ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกต้องทำกันทุกคัน ไม่ทำไม่ได้ จะผิดกฎหมาย โดยต้องใช้ประกอบกับหนังสือคู่มือทะเบียนรถยนต์ในการชำระภาษีรถทุก 12 เดือน
เมื่อมี ประกันภัย พ.ร.บ.แล้ว จะเป็นหลักประกันให้กับผู้คนที่อยู่ในรถทุกคันว่า “จะได้รับสิทธิความคุ้มครองจากเงินกองกลางที่รถทุกคันได้ในการได้รับความคุ้มครองและเงินค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ หรือการประสบภัยจากรถในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที ยังเป็นหลักประกันให้กับโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่รับผู้ประสบภัยเข้าดูแลว่าจะได้รับค่ารักษาพยาบาล
นับว่าช่วยแบ่งเบาภาระค่าเสียหายและความเดือดร้อน แต่จะช่วยคุ้มครองเท่าที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น!
ดังนั้น กรณีเกิดอุบัติเหตุรถยนต์มีความสูญเสียทั้งผู้คนและทรัพย์สิน หรือเสียหายมาก ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิดก็ตาม จึงต้องมีการทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ จะช่วยแบ่งเบาภาระได้อีกมากมายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ขึ้นอยู่กับการเลือกซื้อความคุ้มครองประกันภัย แต่มิได้ถูกบังคับโดยกฎหมายว่าต้องซื้อประกันนี้หรือไม่
อย่าคิดเพียงว่า หากไม่ได้ประสบอุบัติเหตุรถยนต์หรือไม่มีการเคลมความเสียหายในรอบสัญญาความคุ้มครอง จะเป็นการสูญเสียเงินโดยใช่เหตุ คิดเช่นนี้เท่ากับตกอยู่ในความประมาทโดยแท้ จะเกิดความเสียเปรียบหรือ “ต่อรอง” ได้น้อยลงกับคู่กรณีที่มีประกันรถคุ้มครอง 24 ชั่วโมง
การทำประกันภัยภาคสมัครใจมีประโยชน์อย่างมาก จะคุ้มครองความรับผิดต่อการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของผู้โดยสารในรถคันเอาประกัน และบุคคลภายนอก ยังคุ้มครองความรับผิดต่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก และความเสียหายของตัวรถยนต์ รวมถึงอุปกรณ์ เครื่องตกแต่ง และส่วนควบที่ติดประจำอยู่กับตัวรถยนต์ ทั้งความคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์ที่ถูกไฟไหม้ หรือรถสูญหายจากการถูกลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ยักยอกทรัพย์
ทั้งนี้จํานวนเงินจํากัดความรับผิดนี้ถือเป็นส่วนเกินจากความคุ้มครองตามประกันรถแบบภาคสมัครใจ ที่แบ่งเป็นประกันชั้น 1, 2, 3, 2+ หรือ 3+
ประกันรถยนต์ชั้น 1 จัดความคุ้มครองได้ดีที่สุด รับผิดชอบบุคคลในรถ บุคคลภายนอก รถยนต์ที่เอาประกันภัย รวมถึงเกิดไฟไหม้และสูญหาย รองลงมา ประกันภัยรถชั้น 2 รับผิดชอบทั้งตัวบุคคลในรถ บุคคลภายนอก รถยนต์ เกิดไฟไหม้และสูญหาย
ประกันรถยนต์ชั้น 2+ รับผิดชอบต่อความเสียหายกรณีเดียวกับประกันชั้น 2 แต่เพิ่มความรับผิดส่วนของความเสียหายต่อตัวรถยนต์กรณีชนกับยานพาหนะทางบก และมีคู่กรณี
ส่วนประกันรถยนต์ชั้น 3+ รับผิดชอบต่อความเสียหายกรณีเดียวกับประกันชั้น 3 แต่คุ้มครองในวงเงินจำกัด กรณีที่ชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น
ประกันรถยนต์ชั้น 3 รับผิดชอบต่อความเสียหายบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง รถยนต์เกิดไฟไหม้และสูญหาย
การเลือกทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจอยู่ที่ความเหมาะสมของผู้ใช้รถแต่ละคน แต่ที่ขอแนะนำคือ อย่าคำนึงถึงเบี้ยประกันราคาถูกอย่างเดียว ควรพิจารณาความคุ้มครองอันเป็นผลประโยชน์ที่จะได้รับที่คิดว่าดีที่สุดทั้งของตัวเอง ครอบครัวและคนที่เรารักขณะที่นั่งอยู่บนรถด้วยกัน แล้วจะรู้ว่า เงินที่จ่ายค่าทำประกันรถยนต์มีความคุ้มค่าแค่ไหน